มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยผลสุ่มตรวจพบ 23 ตัวอย่าง มีน้ำตาลเกินมาตรฐาน มากสุดถึง 18.5 ช้อนชา หมอแนะเสี่ยงเบาหวานและโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการทำแก้วเล็กลดการบริโภค ทำฉลากสินค้าแบบสัญญาณไฟจราจร
Gclubthnarok ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างชานมไข่มุกในเดือนพฤษภาคม 2562 จำนวน 25 ยี่ห้อ ขนาดแก้วปกติ แบบไม่ใส่น้ำแข็ง ที่มีราคาตั้งแต่แก้วละ 23-140 บาท ส่งตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ ปริมาณพลังงาน น้ำตาล และไขมัน รวมถึงทดสอบหาโลหะหนักประเภทตะกั่ว และสารกันบูดในเม็ดไข่มุก
จากผลทดสอบ พบน้ำตาลเกินมาตรฐานกว่า 92% หรือ 23 ยี่ห้อ โดยปริมาณน้ำตาลต่อแก้วน้อยที่สุดเท่ากับ 16 กรัม (4 ช้อนชา) และยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลต่อแก้วมากที่สุดมีปริมาณน้ำตาลกว่า 74 กรัม (18.5 ช้อนชา) ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำปริมาณน้ำตาลที่ได้รับต่อวัน ไม่ควรเกิน 24 กรัม (6 ช้อนชา)
ขณะที่ผลการทดสอบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) และกรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ในเม็ดไข่มุก พบในตัวอย่าง 100% โดยปริมาณสารกันบูดน้อยที่สุด มีปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ 58.39 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และยี่ห้อที่พบปริมาณสารกันบูดรวมมากที่สุด พบปริมาณกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกรวมกัน เท่ากับ 551.09 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่ไม่เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวในงานแถลงข่าว ฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบ “น้ำตาล และ สารกันบูด” ในชานมไข่มุก 25 ตัวอย่าง ว่า การทดสอบดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาด ยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัยด้านอาหารแก่ผู้บริโภค และเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการบริโภคได้มากขึ้น สังเกตว่าทุกยี่ห้อมีสารกันบูด แต่ไม่มียี่ห้อไหนที่ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค
“ในชานมไข่มุกมีสารกันบูด จึงขอให้ผู้ประกอบการระบุในฉลากให้ถูกต้อง ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาด้วย ทั้งนี้ อยากฝากข้อเสนอไปถึงผู้ประกอบการให้ปรับลดขนาดปริมาณต่อแก้ว (Serving Size) ลงให้เหมาะสม เพื่อควบคุมไม่ให้ผู้บริโภคได้รับปริมาณพลังงานและน้ำตาลต่อแก้วสูงจนเกินไป เพราะเมื่อผู้บริโภคซื้อชานมไข่มุก ก็อาจบริโภคจนหมดแก้วเพราะความเสียดาย ทำให้พลังงานและน้ำตาลที่ได้รับในหนึ่งมื้อนั้นมากจนเกินความจำเป็น และ อย.ควรเร่งผลักดันให้เกิดฉลากสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพอาหารให้เป็นมิตรกับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น” น.ส.สารี กล่าว
นายพชร แกล้วกล้า นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเสริมว่า ฉลากแบบสัญญาณไฟจราจร คือ ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (Guidline Daily Amounts : GDA) หรือฉลากหวานมันเค็ม มีพื้นฐานในประเทศอังกฤษมากว่า 20 ปี ตอนนี้ทุกห้างติดสินค้าแบบนี้หมด หลักเกณฑ์ง่ายๆ คือ การนำข้อมูลโภชนาการหลังซองมาไว้หน้าซองให้เข้าใจง่าย
โดย สีแดง หมายถึง มีปริมาณที่มากกว่าเกณฑ์ ควรหลีกเลี่ยงในการรับประทานครั้งต่อไป สีเหลือง หมายถึง สูงระดับพอดีเกณฑ์ ควรระมัดระวังในการรับประทานครั้งต่อไป หากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง และสีเขียว หมายถึง สามารถรับประทานได้ แต่ไม่ควรเกิน 2 ครั้ง ใน 1 วัน เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกได้อย่างเหมาะสม และผู้ผลิตจะเกิดความตระหนักในการปรับลดสินค้าให้ปลอดภัยมากขึ้น
ด้าน ทพญ.มัณฑนา ฉวรรณกุล รองผู้จัดการโครงการ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกแนะว่า ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา (24 กรัม) แต่ผลทดสอบชานมไข่มุก ยี่ห้อที่มีน้ำตาลน้อยสุด คือ 16 กรัม (4 ช้อนชา) และมากสุด คือ 74 กรัม (18.5 ช้อนชา) ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่ควรได้รับถึง 3 เท่า และแม้เครื่องดื่มจะมีน้ำตาลน้อยกว่า 24 กรัม แต่ก็พบว่า ในหนึ่งแก้วเราได้บริโภคน้ำตาลที่กำหนดต่อวันไปแล้ว 2 ใน 3 ยังไม่รวมน้ำตาลที่อยู่ในอาหารอื่นๆ เครื่องดื่มเหล่านี้เป็นเครื่องดื่มที่ควรงดการดื่ม เพราะเป็นแหล่งอุดมน้ำตาล ซึ่งปริมาณน้ำตาลที่สูงหากได้รับในคราวเดียว จะรบกวนระบบการ Metabolite สาเหตุของกลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต (NCDs) รวมถึงฟันผุ และโรคอ้วนก็มีความเกี่ยวเนื่องเช่นกัน
“สิ่งที่ทางเครือข่ายพยายามรุกคืบ คือ สร้างความตระหนักให้สังคมรับรู้ว่าไม่ควรเอาสารพิษเหล่านี้เข้าไปในร่างกาย พร้อมชวนร้านกาแฟลดขนาดแก้วให้เล็กลง เพื่อลดการบริโภค ทั้งนี้ การลดปริมาณน้ำตาลลง คือ การลดต้นทุน แต่สิ่งที่ร้านยังกังวล คือ กลัวรสชาติไม่อร่อย เพราะลูกค้าหลายคนติดหวานกลัวขายไม่ได้” ทพญ.มัณฑนากล่าว
ทพญ.มัณฑนา กล่าวอีกว่า ขณะที่ผู้บริโภคเองควรตระหนัก วิธีที่ช่วยป้องกันคือ การออกกำลังกาย แต่อาจจะยากลำบากสำหรับหลายคน ดังนั้น อาจเลือกรับประทานในขนาดที่เล็กลง หรือเลือกหวานน้อย นอกจากนี้ ทางเครือข่ายยังทำโครงการโรงเรียนโรงอาหารอ่อนหวาน ดูปริมาณแคลอรี่ น้ำตาล ไขมัน ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม มีแกนนำนักเรียนให้ความรู้ และบริโภคตามคำแนะนำ สิ่งสำคัญคือผู้ปกครองที่ต้องช่วยดูแลโภชนาการนอกรั้วโรงเรียน
สำหรับชานมไข่มุกซึ่งมีต้นกำเนิดจากประเทศไต้หวัน กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศไทยและทั่วโลก ตลาดรวมชานมไข่มุกทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 6.25 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในปี 2566 มูลค่าจะอยู่ที่ 1.03 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดชานมไข่มุกในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 2.5 พันล้านบาท
ขอขอบคุณภาพและข้อมูล จาก thaihealth.or.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น